“ชาวบิ๊กไบค์” เตรียมพกใบขับขี่เพิ่มอีกหนึ่งใบ! หลัง ค.ร.ม. เห็นชอบร่างกฏหมายใหม่ อบรมเพิ่ม กำหนดอายุ พร้อมทดสอบพิเศษ ไม่เข้าเกณฑ์ “อดขี่”
Bikersthailand
เป็นเรื่องราวครึกโครมในหมู่คนขับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่ขี่รถ Bigbike หลัง ครม.มีมติเห็นชอบ “ร่างกฎกระทรวงการขอและออกใบอนุญาตขับรถ” ซึ่งมีรายละเอียดโดยรวม 10 ข้อด้วยกันเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548 ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548

เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ รวมทั้งการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ในข้อแก้ไขที่เพิ่มเติมขึ้นมา 10 ข้อ ประกอบไปด้วย
- ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ.2548
- ปรับปรุงเอกสารหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาตขับรถ
- กำหนดเพิ่มเติมให้ใบรับรองแพทย์ที่จะนำมาใช้ประกอบการขอหรือต่อใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ขอนอกจากไม่มีโรคประจำตัวแล้วยังไม่มีสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
- กำหนดให้การขอต่อใบอนุญาตขับรถทุกกรณีต้องใช้ใบรับรองแพทย์ โดยใบรับรองแพทย์มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด แต่หากแพทย์ไม่ได้กำหนดอายุไว้ ให้ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์
- เพิ่มเติมอำนาจนายทะเบียนในการสั่งให้ผู้ขอรับหรือขอต่อใบอนุญาตขับรถต้องเข้ารับการตรวจ และนำใบรับรองแพทย์มายืนยันความเหมาะสมในการขับรถเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการ
- ยกเลิกการใช้บัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ภาพถ่ายบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนและภาพถ่ายหรือสำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาตขับรถ
- เพิ่มเติมให้สามารถนำหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมายให้ดำเนินการอบรมมาใช้ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถได้
- เพิ่มเติมข้อกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขับรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังสูง (Big bike)ต้องผ่านการอบรมและทดสอบการขับรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นการเพิ่มเติม
- กำหนดให้ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของรถประเภทเดียวกันกับที่ขอรับใบอนุญาตซึ่งรัฐบาลของประเทศอื่นออกให้ต้องยังไม่สิ้นอายุ
- เพิ่มเติมกรณีผู้ขอเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีสิทธิขอรับใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคล (5 ปี)
ซึ่งในส่วนของ Bigbike นั้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนเป็นพิเศษ ว่าการอบรม หรือ การทดสอบนั้นจะเป็นรูปแบบไหน เเต่ต้องได้รับการอนุญาตเป็นการพิเศษจากอธิปดีเเน่นอน วัตถุประสงค์คือการคัดกรอง หรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ของบุคคลใดที่อาจขาดซึ่งวุฒิภาพวะที่เพียงพอ

หรือ ขาดประสบการณ์ หรือ ทักษะไม่เพียงพอจากการขับขี่ เนื่อง บิ๊กไบค์ เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังสูง ผู็ขับขี่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในระดับนึ่ง จากมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่และประชาชนผู้ใช้ถนนผู้อื่น ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นที่กังขา และเกิดความสงสัยเป็นวงกว้างว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการเเก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ ?
ไม่ว่าจะเป็นการไม่ “อัพเดท” ของ พ.ร.บ. จราจร ซึ่งยังเป็นฉบับเก่าปี 2522 โดยหากอ้างถึงความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันเเล้ว พรบ. 2522 นับเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ทางสัญจรเห็นว่าควรได้รับการปรับปรุงมากที่สุด เพราะหากมองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กฏระเบียบหลายข้อทั้ง มอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งชิดซ้าย หรือ ห้ามลงอุโมงค์ ห้ามแซงซ้ายเพราะเป็นมุมอับสายตาของรถยนต์(วิ่งขวาก็ไม่ได้แซงซ้ายก็ผิด) ห้ามใช้ทางด่วน ห้ามใช้สะพานข้ามเเยก

หรือแม้เเต่ในหลายพื้นที่ กำหนดความเร็วใว้ต่ำจนย้อนเเย้งกับปัจจุบันโดยเฉพาะความเร็วที่จำกัด กระทั่งผู้ขับขี่รถยนต์เองก็ใช้ความเร็วที่เกินแทบทั้งนั้น อาทิ มอเตอร์เวย์ หรือทางหลวงระหว่างจังหวัดหลายเส้น ขณะที่สมรรถนะของมอเตอร์ไซค์ในปัจุบันเพิ่มมากกว่าในอดีตเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนหลายต่อหลายเท่าตัว อะไรคือสิ่งที่ควรเปลี่ยน อะไรคือสิ่งที่ควรเพิ่ม สิ่งที่ข้าราชการได้เรียนรู้จากการดูงานต่างประเทศ ท่านเห็นสิ่งใดที่ควรจะนำมาปรับใช้บ้างหรือไม่?

โดยเฉพาะแนวคิดที่จะห้ามมอเตอร์ไซค์วิ่งแทรกกลางระหว่างเลน เป็นความคิดที่สวยหรู แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ หลายปัญหาอาจเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องต่อเเถวเรียงหนึ่งเป็นจำนวนมาก จนอาจสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ต้องต่อเเถวยาวเหยียด สุดท้ายเมื่อมอเตอร์ไซค์เกิดความเดือดร้อนลำบาก ก็ต้องปรับเปลี่ยนหันมาใช้รถยนต์ สุดท้ายก็มารวมกันอยู่บนพื้นผิวจราจรที่จำกัดในเมือง “รถติดมากกว่าเดิมหลายเท่า”

ดังนั้น ณ จุดนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม หากจะเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับกฏ หรือข้อบังคับใดให้ดีขึ้น มั่นใจว่าประชาชน เเละผู้ขับขี่ก็ยินดีปฏิบัติตาม แต่ก็ควรดูในภาพรวมอื่นๆด้วยว่า สมควรแก่เวลาหรือยังที่จะยกระดับและมาตรฐานให้สอดคล้องกับปัจจุบันอย่างแท้จริง.
ข้อมูลอ้างอิง
https://news.thaipbs.or.th/content/295615
https://www.thebangkokinsight.com/417086/
https://www.thansettakij.com/content/normal_news/446061
ข้อมูลความเร็ว
https://www.silkspan.com/carinsur/article/92/